Tuesday, March 6, 2007

วันมาฆบูชา







วันมาฆบูชา
ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๓ หรือประมาณราวเดือนกุมภาพันธ์ วันมาฆบูชา และ พุทธธรรมควรปฏิบัติ

ความหมาย
มาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" มาฆะเป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชา จึงหมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
.
.
.
ความเป็นมา
ในวันนี้ เป็นโอกาสคล้ายวันประชุมใหญ่แห่งพระสาวกที่ไปปฏิบัติศาสนกิจยังที่ต่างๆ นับตั้งแต่พระปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นสาวกชุดแรก รวมถึงพระสาวกอื่น ๆ ซึ่งพรักพร้อมกันเข้าเฝ้าพระพุทธองค์โดยมิได้มีการนัดหมายไว้ก่อน การประชุมครั้งนี้เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต โดยประชุม ณ วัดเวฬุวัน โดยทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ (การปลงพระชนมายุสังขาร ก็ตรงในวันนี้ และตรงกับวันสำคัญในศาสนาพราหมณ์ คือเป็นศิวาราตรี หากนับจากวันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มา จะเป็นเวลา ๙ เดือนพอดี)

ตอนเย็นของวันเพ็ญเดือน ๓ นี้ พระพุทธองค์ ได้เสด็จลงจากยอดเขาคิชฌกูฏมายังวัด เชตวัน ปรากฏว่ามีพระอรหันต์มาประชุมกัน ณ วัดเวฬุวัน อยู่แล้ว มีจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ เป็นจำนวนพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระ คยากัสสปเถระรวม ๑,๐๐๐ องค์ กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานะเถระ ๒๕๐ พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการที่จะทรงแสดงคำสอนที่เป็นหลัก หรือเรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” (โอวาท=คำสอน โอวาท ปาติโมกข์ หรือปาฏิโมกข์ = หลัก ประธาน) เพื่อให้ภิกษุสาวกได้ยึดเป็นหลักแห่งพระพุทธศาสนา เพราะยังถือว่าเป็นช่วงเวลาแรกแห่งการขยายฐานการประดิษฐานพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศพระศาสนาในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนี้ ซึ่งถือว่ามีความพร้อมหลายส่วน เช่น เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรมาก มีเจ้าลัทธิอื่นๆ มาก และต้องถือว่าเป็นโอกาสพิเศษ เพราะมีองค์ประกอบถึง ๔ ประการ ได้แก่


๑. วันนั้นเป็นวันเพ็ญมาฆปูรณมี พระจันทร์เต็มดวง (วันธัมมัสสวนะ)
๒. พระภิกษุ จำนวน๑,๒๕๐ รูป มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมายมาก่อน
๓. พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น และเป็นผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระภิกษุเหล่านั้น ล้วนเป็น “เอหิภิกขุ” คือได้บวชโดยตรงจากพระพุทธเจ้า


ด้วยทรงเห็นความพรักพร้อมเช่นนั้น จึงได้ทรงถือโอกาสตรัสแสดงหลักการที่สำคัญ ซึ่งเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ โดยทรงแสดงเป็นพระพุทธพจน์นับได้ ๓ คาถากึ่ง หรือเรียกว่า ๓ ตอน แยกเพื่อการศึกษาโดยง่ายดังนี้


ตอนที่ ๑ ทรงแสดงหลักการใหญ่แห่งพระพุทธศาสนา

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
ขันติคือความอดกลั้น เป็นตบะธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม

น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
ผู้กำจัด ทำร้ายสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย

สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย


พุทธธรรมควรปฏิบัติ
หลักธรรมสำคัญที่ชาวพุทธทั่วไปถือว่าเป็นหลักการแห่งโอวาทปาติโมกข์ ทรงแสดงไว้ ๓ ข้อด้วยกัน ได้แก่

๑. ขันติ ขันติ หรือ ความอดทนในที่นี้ ทรงแสดงแตกต่างจากความอดทนในศาสนาอื่น เป็นการอดทนต่อการที่จะเอาชนะกิเลสทั้งหลาย เรียกว่า ตบะธรรม หมายถึงใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวดเพื่อที่จะเผากิเลส หรือเอาชนะกิเลสให้หมดสิ้น แต่ไม่ใช่อดทนด้วยการทรมานร่างกาย ทำร้ายตนเอง แต่เป็นการบังคับจิตใจไม่ให้ล่วงละเมิดแก่สิ่งยั่วยวนทั้งหลาย ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นต้น ทรงประกาศถึงความอดทนเป็นหนทางเด่นในการที่จะเข้าถึงเป้าหมายได้ ซึ่งหมายถึงพระนิพพาน

๒. พระนิพพาน พระนิพพาน หมายถึง ภาวะหมดกิเลส เป็นบรมธรรมหรือธรรมะอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา มิใช่เพียงพระพุทธองค์ในปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ทรงประกาศเป้าหมายอันสูงสุดคือพระนิพพานเหมือนกันทุกพระองค์

๓. การไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนคนอื่น พระพุทธองค์ตรัสถึงคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นบรรพชิต หรือสมณะในพระพุทธศาสนา คือต้องไม่เป็นผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น โดยนัยนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่ง “การไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น” เป็นจุดยืนที่ทรงแสดงไว้ในหลักโอวาทปาติโมกข์นี้


ตอนที่ ๒ ทรงแสดงหลักปฏิบัติการธรรมในพระพุทธศาสนา

สพฺพปาปสฺส อกรณํ
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง

กุสลสฺสูปสมฺปทา
การทำความดีให้ถึงพร้อม

สจิตฺตปริโยทปนํ
การทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์

เอตํ พุทฺธาน สาสนํ
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา


พุทธธรรมควรปฏิบัติ
หลักการปฏิบัติ ๓ อย่างนี้ ชาวพุทธทั่วไปถือว่าเป็น “หัวใจของพระพุทธศาสนา” ได้แก่

๑. ไม่ทำความชั่ว (เว้นจากทุจริต คือการประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ)

๒ ทำความดี (ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ)

๓. ทำใจให้ผ่องใส (ทำจิตใจของตนให้หมดจากสิ่งเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น)

คำสอนทั้ง ๓ นี้ นับได้ว่าเป็น “ปฏิบัติศาสนา” หมายถึง เป็นศาสนาแห่งการลงมือกระทำ ไม่ใช่เพียงแค่ให้หลักการ ให้ทฤษฎีหรือให้ความรู้เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือการได้ลงมือปฏิบัติด้วย

ข้อแรก คือ การละเว้นความชั่ว แต่คำสอนไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การละเว้น และไม่กระทำความชั่วเท่านั้น ยังสอนให้มุ่งทำความดีให้เกิดขึ้นด้วย คือความดีที่ทำได้ใน ๓ ทาง ได้แก่

๑.ทางกาย ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในคู่ครอง

๒.ทางวาจา ด้วยการไม่กล่าวเท็จ ไม่โกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดให้ร้ายใคร

๓.ทางใจ ด้วยการไม่คิดประทุษร้ายคนอื่น ไม่โลภอยากได้ในส่งของที่ไม่ใช่ของตน ไม่เห็นผิดเป็นชอบ

ส่วนความดีที่เป็นหลักที่ ๓ คือ การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น เป็นขั้นสูง และละเอียดลงไป คือการทำสมาธิ วิปัสสนา ความดีที่เกิดจากสภาพจิตอันเป็นสมาธิ ทำให้มีความสงบ และเมื่อเกิดความสงบแล้วก็จะพบความสุขได้ ส่วนความดีที่เกิดจากวิปัสสนา คือการได้รู้ทันกระแสโลกที่เป็นไปอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ติดกับ ไม่หลงกล ไม่ยึดติด พิจารณาอย่างมีสติ และมีความไม่ประมาท


ตอนที่ ๓ ทรงแสดงวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

อนูปวาโท อนูปฆาโต
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย

ปาติโมกฺเข จ สํวโร
การสำรวมในปาติโมกข์

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค

ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด

อธิจิตฺเต จ อาโยโค
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง


พุทธธรรมควรปฏิบัติ
คำสอนสำคัญในลำดับสุดท้าย ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ จัดเป็นคำสอนในส่วนที่เป็นคุณสมบัติของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา ลักษณะความประพฤติ ที่แสดงถึงคุณสมบัติภายใน และคุณสมบัติที่จะแสดงออกในภายนอกด้วย ได้แก่

๑. การไม่กล่าวร้ายใคร คำพูด เป็นสมบัติชิ้นสำคัญสำหรับนักเผยแผ่ จะต้องเป็นไปเพื่อการไม่กล่าวร้าย ให้ร้ายผู้อื่น

๒. การไม่ทำร้ายใคร การไม่ทำร้าย ก็เช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่นักเผยแผ่จะต้องคำนึงเสมอ

๓. การสำรวมสังวรในพระปาติโมกข์ ปาติโมกข์ หรือปาฏิโมกข์ ซึ่งหมายถึงศีล หรือข้อกำหนดความประพฤติสำหรับพระภิกษุสงฆ์

๔. เป็นผู้รู้จักประมาณในภัตตาหาร หมายถึงการรับประทานอาหารอย่างพอดีกับร่างกาย ไม่ให้อิ่มเกินไป การรู้จักบริโภค อุปโภค
อย่างพอเพียง ซึ่งข้อนี้ เทียบได้กับกระแสพระราชดำรัสเรื่อง “ความพอเพียง” ได้อย่างตรงกันพอดี

๕. อาศัยอยู่ในที่นอนที่นั่งอันสงัด หมายถึง การอยู่ในที่ซึ่งมีความสงบ อยู่ในมุมที่ไม่มีเสียงอึกทึกคึกโครม เหมาะแก่การสร้างสมาธิได้ง่าย

๖. การประกอบความเพียรในอธิจิต หมายถึง การรู้จักใช้เวลาในการทำความเพียรทางจิต ได้แก่การทำสมาธิ ภาวนานั่นเอง เป็นการหมั่นสำรวจจิตตนเอง ไม่ให้จิตตกไปสู่กระแสกิเลสจนไม่รู้จักตนเอง ไม่ปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง เข้าครอบงำจิตอยู่ตลอดเวลา


สรุปสาระพุทธธรรมจากวันมาฆบูชา

ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แต่ละโอกาส ล้วนมีความหมาย และความสำคัญต่อการดำรงชีวิตทั้งสำหรับบรรพชิตและฆราวาสได้ทั้งนั้น เช่นเดียวกับธรรมะที่ตรัสในวันมาฆบูชานี้ นอกจากจะเป็นธรรมะที่แสดงหลักการที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นแล้ว ยังเป็นหลักการ และหลักปฏิบัติที่เหมาะสำหรับผู้ที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติได้ จะสังเกตได้ว่า หลักคำสอนที่ปรากฎในโอวาทปาติโมกข์นี้ เน้นสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เพราะจะเป็นแนวทางสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา การที่พระอริยสงฆ์มีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ องค์นั้น ถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดในขณะนั้น และนับหลังจากนั้นไป พระพุทธศาสนาก็จะไปประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ โดยการนำไปของพระอริยสงฆ์เหล่านั้น

หลักธรรมที่ควรน้อมนำมาประยุกต์ และปฏิบัติกับชีวิต สุดแต่ความสะดวก และสถานการณ์ที่เป็นใจให้นำมาใช้ เช่น ความอดทน เป็นหลักการแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้วว่า การจะไปถึงยังเป้าหมาย จะต้องใช้ความอดทน และไม่ใช่เป็นความอดทนเพียงครู่ เพียงขณะ แต่เป็นความอดทนอย่างยิ่ง อดทนได้แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย และอุปสรรคมากมายที่ต้องประสบนั้น อันดับแรกต้องตั้งขันติ คือความอดทนเอาไว้ก่อน อดทนสู้ อดทนสร้าง อดทนเพื่อไปถึงทางที่มุ่งหวังไว้

หลักธรรมอื่น ๆ ในโอวาทปาติโมกข์ ก็ล้วนสำคัญ ซึ่งในที่นี้ขอสรุปตามคำสอนที่เรียกว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา ๓ ข้อ คือการไม่ทำความชั่ว การทำความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้รู้ว่าคนเรานั้น จะเป็นคนดีตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นผู้ที่ไม่ทำสิ่งชั่วร้าย เสียหายให้แก่ตนและคนอื่น พร้อมที่จะทำความดี ทำประโยชน์แก่สังคมโลก และความดีขั้นสุดท้ายคือสามารถทำใจตนเองให้บริสุทธิ์สะอาดได้ ขอฝากท้ายด้วยข้อคิดที่ว่า... “ความอดทน สร้างคนให้ก้าวหน้า ศีล สมาธิ และปัญญา สร้างคนให้เป็นคนดี”

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ : ในวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

ช่วงเช้า : เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ควรไหว้พระ นั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบหลังจากตื่นนอน และเตรียม ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณรตามความเหมาะสมช่วงสาย :เดินทางไปวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อจะทำบุญ และสมาทานรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ บ้าง แล้วแต่ศรัทธา ฟังพระธรรมเทศนา หรือถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรในวัดต่าง ๆ

ช่วงบ่าย : ฟังพระธรรมเทศนาในวัดที่จัดให้มีพิธีเทศน์ในตอนกลางวัน หรือไปนั่งสมาธิตาม ความสะดวก เหมาะสม

ช่วงเย็น : เตรียมตัวเพื่อเวียนเทียนเป็นพุทธบูชา โดยเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน หรือบางวัด มี การจัดเตรียมและบริการไว้ ซึ่งจะเวียนรอบพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อปฏิบัติขณะเวียนเทียน : กล่าวคำบูชาตามพระสงฆ์เสร็จแล้ว ในขณะจุดธูปเทียน และขณะเดินถือ ธูปเทียน ควรระมัดระวัง ในการเดินแต่ละรอบนั้น อาจกล่าวคำสรรเสริญพุทธคุณในการเดินรอบแรก (อิติปิ โส ภควาฯ) กล่าวคำสรรเสริญพระธรรมคุณ (สฺวากขาโต ภควตา ธัมโมฯ) กล่าวคำสรรเสริญพระสังฆคุณ (สุปฏิปันโน ภะคะวะโตฯ) หรือทำจิตให้สงบเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ และสังฆานุสสติ จนครบ ๓ รอบแล้ววางดอกไม้ และปักธูปเทียนลงในกระถางและเชิงเทียน หรือในที่เหมาะสม เสร็จแล้วกราบพระเป็นเสร็จพิธี หรืออาจจะรอฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งบางวัดมีการจัดแสดงพระธรรมเทศนาก่อนหรือหลังการเวียนเทียนด้วย
.
.
.
ที่มา :
http://www.mahidol.ac.th/muthai/_popup/maka/
.
.
.
.
.
.
.






No comments: